ฟางข้าว และตอซัง คือทองคำในผืนนา

พี่ธนะ มงคลชัย เกษตรกรอินทรีย์แห่งบ้านหนองตาเรือง ต.แม่ระกา อ.วังทอง จ.พิษณุโลก เป็นเกษตรกรชาวนาที่ทำนามาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายแล้ว แต่ผลผลิตข้าวที่ได้กลับลดลงเรื่อยๆ ทั้งที่ตนเองก็เพิ่มปริมาณปุ๋ยเคมีขึ้นทุกปี เขาจึงศึกษาเพิ่มเติมเพื่อหาว่าจะทำอย่างไรให้ข้าวที่ตนปลูกได้ผลผลิตมากขึ้น และลดต้นทุนในการปลูกข้าวลง หลังจากทดลองกับพื้นที่นาของตนเองโดยทดลองอยู่ถึง 4 ปี จนเห็นผลชัดเจนว่าเดินมาถูกทางแล้ว และจะเดินต่อไป เขามีวิธีการเช่นไร มาติดตามกัน

วิธีการทำนาแบบพี่ธนะ

ขั้นตอนที่ 1 หมักปุ๋ยน้ำหมักไว้ใช้เอง โดยสูตรในการทำน้ำหมักชีวภาพในการใช้บำรุงต้นพืชโดยทั่วไปจะมีสูตรคล้ายคลึงกัน โดยอาจแบ่งได้ 2 สูตร ตามการใช้งานได้ดังนี้ 

น้ำแม่ ประกอบด้วยพืชผักใบเขียว เช่น หน่อไม้ ยอดผักบุ้ง หน่อกล้วย ต้นถั่ว ฯลฯ โดยใช้ส่วนที่ยังอ่อนที่สุด (ส่วนยอด) และต้องเป็นส่วนที่สมบูรณ์ที่สุดด้วย เพื่อให้ได้ฮอร์โมนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยในการเร่งการเจริญเติบโตของพืช 

น้ำพ่อ ประกอบด้วยผลไม้สุกชนิดต่างๆ เช่น สับปะรดสุก กล้วยสุก มะละกอสุก ฟักทองแก่จัด ฯลฯ เพื่อช่วยในการให้ผลผลิตที่สมบูรณ์ การติดผลดีขึ้น 

โดยวิธีการทำทั้ง 2 สูตร จะเหมือนกัน คือนำกากน้ำตาล 3 กิโลกรัม ใส่ลงไปในถังขนาด 50 ลิตร แล้วเติมน้ำ 20 ลิตร คนไปในทางเดียวกันให้เข้ากันดี แล้วนำพืชผักตามสูตรมาสับเป็นชิ้นเล็กๆ น้ำหนักอย่างละ 3 กิโลกรัม ใส่ลงในถัง แล้วเพิ่มด้วยหัวเชื้อซุปเปอร์ พด.2 กรมพัฒนาที่ดิน 1 ซอง ทำการคลุกเคล้าให้เข้ากันโดยมีเทคนิคคือ ต้องคลุกเคล้าไปในทิศทางเดียวเท่านั้น เมื่อส่วนผสมเข้ากันดีแล้วก็ปิดฝาเพื่อป้องกันแสงแดดและอากาศ เนื่องจากจุลินทรีย์ที่ย่อยสลายนี้เป็นจุลลินทรีย์ที่ไม่ต้องการแสงและอากาศ แต่ไม่ควรปิดฝาแน่นเกินไปเพราะในขั้นตอนการหมักจะเกิดแก๊สขึ้น ทำการเปิดแล้วใช้ไม้คนส่วนผสมทุก 3 วัน ใช้เวลาหมัก 30 วัน ก็สามารถนำไปเจือจางใช้บำรุงพืชได้เลย 

*** โดยอัตราส่วนขึ้นอยู่กับปริมาณที่ต้องการใช้งาน เมื่อต้องการใช้มากกว่าที่กล่าวมาก็ทำการเพิ่มอัตราส่วนขึ้นไปได้

ขั้นตอนที่ 2 เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จก็ทำการไถกลบฟางข้าว และตอซัง โดยไม่เผาเป็นอันขาด เพราะการเผาฟาง คือการเผาทองคำในดิน เนื่องจากเมื่อเผาฟางอินทรียวัตถุ และปุ๋ยก็ถูกเผาไปด้วย แถมจุลลินทรีย์ แมลง และไส้เดือน ที่เป็นประโยชน์ก็จะตายไป เมื่อไถกลบเสร็จแล้วก็จะใช้น้ำหมักชีวภาพฉีดพ่น หรือปล่อยไปกับน้ำที่ใส่ลงในแปลงนา โดยใช้อัตราส่วนน้ำแม่ 4 ลิตร ต่อน้ำพ่อ 1 ลิตร ผสมกับน้ำ 20 ลิตร หมักไว้ประมาณ 7 วัน ฟางก็จะย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยชั้นยอด

ขั้นตอนที่ 3 เมื่อข้าวที่ปลูกมีอายุ 10-15 วัน และ 45 วัน ทำการใส่น้ำหมักชีวภาพเป็นครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 อัตราส่วนเช่นเดิมกับตอนหมักฟาง และเมื่อข้าวมีอายุได้ 60 วัน เป็นช่วงที่ข้าวเริ่มแตกกอ ให้ใช้อัตราส่วนน้ำแม่ 2 ลิตร ต่อ น้ำพ่อ 2 ลิตร ผสมน้ำ 20 ลิตร เพื่อเร่งการแตกกอของข้าว แต่ถ้าข้าวยังไม่งามเท่าที่ควรก็อาจมีการหว่านปุ๋ยอินทรีย์เม็ดร่วมด้วย อัตราตามความเหมาะสม และสภาพของข้าวที่ปลูก แต่โดยทั่วไปจะใช้ประมาณ 50-100 กก./ไร่ และในครั้งสุดท้ายให้ฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพตอนช่วงข้าวเริ่มตั้งท้อง โดยใช้อัตราส่วน น้ำแม่ 1 ลิตร ต่อ น้ำพ่อ 5 ลิตร ผสมน้ำ 20 ลิตร เพื่อกระตุ้นการติดเมล็ด

พี่ธนะฝากมาบอกว่าใครที่ยังเผาฟางข้าวอยู่ก็คือยังคงเผาชีวิต ทั้งของสัตว์ และของมนุษย์ ยิ่งคนที่ใช้ปุ๋ย และสารเคมีในนา เมื่อเวลาเผาฟาง และตอซัง สารเคมีเหล่านี้จะลอยขึ้นสู่อากาศเป็นสารพิษในอากาศที่เราสูดดม และยังคงรวมตัวเป็นฝนพิษตกลงมาด้วย เมื่อเรากินน้ำฝน น้ำในบ่อ หรือในแม่น้ำ ก็เท่ากับว่าค่อยสะสมสารพิษไว้ในร่างกายของเราทำให้เจ็บป่วยเป็นโรคต่างๆ ตามมาแต่การปรับเปลี่ยนต้องค่อยเป็นค่อยไป คือเมื่อเริ่มใช้วิธีอินทรีย์อย่าเพิ่งหยุดใส่ปุ๋ยเคมีทันทีแต่ให้ค่อยๆ ลดลงทีละครึ่ง ต้องใช้เวลา 3 ปีขึ้นไป จึงจะสามารถเลิกใช้ปุ๋ยเคมีได้อย่าถาวรได้ 


ฟางข้าวเปรียบเสมือนทองคำ….. ถ้าเผาฟางข้าวก็คือเผาทองคำในที่ดินของตนเอง…. เมื่อไม่มีฟางข้าวก็ทำเกษตรอินทรีย์ไม่ได้ผล ความยากจนของชาวนาก็ยังคงดำเนินต่อไป

นายธนะ  มงคลชัย

ดาวน์โหลด :

ที่มาของข้อมูล :

บทความที่เกี่ยวข้อง

ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช มีอยู่ 16 ธาตุ แต่มีเพียง 7 ธาตุ เท่านั้นที่พืชต้องการใช้ในปริมาณน้อยมาก และเราเรียกธาตุเหล่านี้ว่า จุลธาตุ (Micronutrient) ได้แก่ เหล็ก (Fe) แมงกานีส (Mn) สังกะสี (Zn) ทองแดง (Cu) โบรอน (B) โมลิดินัม (Mo) คลอรีน (Cl) แม้ว่าพืชต้องการธาตุเหล่านี้น้อย แต่ก็มี
การจำแนกมันสำปะหลังพันธุ์ ระยอง1 ระยอง2 ระยอง3 ระยอง5 ระยอง7 ระยอง9 ระยอง11 ระยอง60 ระยอง72 ระยอง86-13 ระยอง90 พิรุณ1 พิรุณ2 ห้วยบง60 ห้วยบง80 ห้วยบง90 เกษตรศาตร์50 เกษตรศาสตร์72