ระวังด้วงเต่าแตงแดง ศัตรูพืชในของเมล่อน

สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกเมล่อน ในช่วงอากาศร้อนในตอนกลางวัน สลับกับมีฝนตก ให้รีบสังเกตเมล่อนในแปลงว่าพบการเข้าทำลายของด้วงเต่าแตงแดงหรือไม ถึงแม้จะชื่อเรียกว่าด้วงเต่า แต่รูปร่างนั้นเป็นทรงกระบอก มีหนาวยาว ปีกคู่แรกแข็งเป็นมันสีแดงแสด ซึ่งเป็นแมลงศัตรูพืชสร้างความเสียหายให้กับเมล่อนที่เราสามารถพบได้ทุกระยะการเจริญเติบโต 

ด้วงเต่าแตงแดง จัดเป็นแมลงศัตรูพืชชนิดหนึ่ง เริ่มแรกจะพบตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่ในดินใกล้โคนต้นเป็นฟองเดี่ยวๆ หรือเป็นกลุ่มเล็กๆ ตัวหนอนสีขาวจะอาศัยอยู่ในดิน และกัดกินรากพืชเป็นอาหาร ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อราก เมล่อนในระยะต้นอ่อน เมื่อตัวเต็มวัยด้วงเต่าแดง จะกัดกินใบยอดและดอกของพืช โดยกัดใบให้เป็นวงก่อน จากนั้นจึงกินส่วนที่อยู่ในวงจนหมดเกิดเป็นรูๆตามใบ หากระบาดรุนแรงอาจทำให้ต้นพืชชะงักการทอดยอด เราจะพบการระบาดแทบทุกฤดูกาล โดยเฉพาะในช่วงที่แตงเริ่มแตกใบจริง

กรณีพบการเข้าทำลายของด้วงเต่าแตงแดงเราสามารถป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืชชนิดนี้ได้หลายวิธี 

1. เกษตรกรควรหมั่นสำรวจตรวจดูสวนในเวลาเช้าที่แดดยังไม่จัด โดยให้ใช้วิธีกลในการจับตัวด้วงเต่าแตงแดงมาทำลายด้วยมือ จะสามารถช่วยลดการระบาดลงได้มาก 

2. ภายหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้เกษตรกรถอนทำลายต้นทิ้ง เก็บเศษซากพืชในส่วนที่หลงเหลือ และหมั่นกำจัดวัชพืชในแปลงไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที เพื่อทำลายแหล่งอาศัย และไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของด้วงเต่าแตงแดงต่อไป

3. ใช้เชื้อราเมธาไรเซียม ฉีดพ่นเพื่อกำจัดตัวหนอน ทั้งพื้นดินและบนต้นเมล่อน

– สภาพอากาศแห้ง ควรทำการกระตุ้นเชื้อก่อนฉีดพ่นโดยนำเชื้อ 50-100 กรัม ผสมกับน้ำ 1 ลิตร พักไว้ 4 ชั่วโมงหลังจากนั้นเติมน้ำอีก 20 ลิตร เติมสารจับใบ แล้วนำไปฉีดพ่นทุก 7-10 วัน

– สภาพอากาศชื้น โดยนำเชื้อ 50-100 กรัม ผสมกับน้ำ 20 ลิตร เติมสารจับใบ แล้วฉีดพ่นทุก 7-10 วัน ฉีดพ่นให้ถูกตัวหรือบริเวณที่ด้วงเต่าแตงแดงอาศัยอยู่ ควรฉีดพ่นในช่วงเวลาเย็น เพราะสภาพอากาศเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อราเมธาไรเซียมนั้นเอง

4. วิธีสุดท้ายที่แนะนำ คือ การใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดด้วงเต่าแตงแดงโดยให้พ่นด้วยสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร 

ในวิธีต่างๆที่เราได้กล่าวไปข้างต้น ถ้าเกษตรกรเลือกใช้ได้ ถูกวิธี และใช้ตามอัตราที่แนะนำ และใช้ในเวลาที่เหมาะสม ก็จะสามารถป้องกันและกำจัดด้วงเต่าแตงแดง ไม่ให้มากวนใจเราได้อีก

บทความที่เกี่ยวข้อง

โรงเรือนอีแว๊ป (Evap) ย่อมาจาก Evaporative cooling system ช่วยลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนเหมาะสำหรับการปลูกพืช ผัก ผลไม้ ที่ต้องการดูแลเป็นพิเศษ จะช่วยเพิ่มผลผลิตให้สามารถออกผลได้ตลอดทั้งปี สะดวกในการดูแล สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเพาะปลูก รวมถึงลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหายจากแมลงและฝน
โรคราน้ำค้าง หรือที่เกษตรกรเรียกว่า “โรคใบลาย” เป็นโรคที่มีความสำคัญมากที่สุดโรคหนึ่งของเมล่อนและพืชวงศ์แตง ในประเทศไทยมีรายงานพบการระบาดของโรคนี้ในแหล่งปลูกพืชวงศ์แตงอยู่ทั่วโลก ในพื้นที่มีความชื้นและอุณหภูมิเหมาะต่อการเข้าทำลายของเชื้อรา โรคราน้ำค้างมักจะเกิดขึ้นในเขตอบอ
ปัจจุบันอาชีพที่คนรุ่นใหม่หันมาให้ความสนมากขึ้น คือ อาชีพเกษตรกร เนื่องจากต้องการหนีความวุ่นวาย มลพิษในเมืองใหญ่ และความกดดันจากปัญหาต่างๆในการทำงาน รวมถึงอยากเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเอง วันนี้เราจะแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักเกษตรกรอายุน้อย คุณปิยะ กิจประสงค์ บ้านเลขที่ 73 ม.7 ต.ปลายนา อ.ศรีประจันต์ จ.สุพ