เมื่อดินมีคราบสนิมเหล็กจะทำอย่างไร

ดินเปรี้ยวจัดหรือดินกรดกำมะถัน

หมายถึงดินที่มีกรดกำมะถันเกิดขึ้นในดิน ทำให้ดินนั้นเป็นกรดจัดมากหรือเป็นกรดรุนแรงมาก ส่งผลกระทบต่อการปลูกพืช พบในบริเวณที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเลที่มีหรือเคยมีน้ำทะเลหรือมีน้ำกร่อยท่วมถึงในอดีต ประกอบด้วยพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดของภาคกลางตอนใต้ ภาคใต้และภาคตะวันออก มีเนื้อที่รวมประมาณ 6,239,361ไร่

ลักษณะของดินเปรี้ยวจัด

มีเนื้อดินเป็นดินเหนียวหรือดินร่วนละเอียดที่พบสารสีเหลืองฟางข้าว หรือตะกอนน้ำทะเลที่มีองค์ประกอบของสารกำมะถันมาก ภายในความลึก 150 เซนติเมตรจากผิวดิน สภาพพื้นที่โดยทั่วไป มีต้นกกหรือกระถินทุ่งขึ้นอยู่ทั่วไป คุณภาพน้ำในบริเวณดังกล่าวใสมากและเป็นกรดจัดมาก มักพบคราบสนิมเหล็กในดินและที่ผิวน้ำ เมื่อดินแห้งจะแตกระแหงเป็นร่องกว้างและลึก เมื่อทำการขุดดินหรือยกร่องลึกจะพบสาร สีเหลืองฟางข้าว (จาโรไซต์) กระจายในชั้นดินและจุดประสีเหลือง สีแดง กระจายอยู่ทั่วไป หรือพบชั้นดินเลนเหนียวหรือร่วนเหนียวปนทรายแป้งที่มีกลิ่นเหม็นเหมือนก๊าซไข่เน่า ชั้นดินเลนนี้เมื่อแห้งจะมี พีเอชดินเป็นกรดจัดมากถึงเป็นกรดรุนแรงมาก มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดิน (pH)  ต่ำกว่า 4.0

ประเภทของดินเปรี้ยวจัดแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ

1) ดินเปรี้ยวจัดที่พบชั้นดินกรดกำมะถันตื้น พบชั้นดินที่มีสารสีเหลืองฟางข้าว หรือชั้นดินที่เป็นกรดรุนแรงมากภายในความลึก 50 เซนติเมตรจากผิวดิน โดยทั่วไปชั้นดินบนมีค่า pHต่ำกว่า 4.0

2) ดินเปรี้ยวจัดที่พบชั้นดินกรดกำมะถันลึก พบชั้นดินที่มีสารสีเหลืองฟางข้าว หรือชั้นดินที่เป็นกรดรุนแรงมากในช่วงความลึก 50-100 เซนติเมตรจากผิวดิน โดยทั่วไปชั้นดินบนมีค่า pH4.0-4.5

3) ดินเปรี้ยวจัดที่พบชั้นดินกรดกำมะถันลึกพบชั้นดินที่มีสารสีเหลืองฟางข้าว หรือชั้นดินที่เป็นกรดรุนแรงมากในช่วงความลึก 100-150 เซนติเมตรจากผิวดิน โดยทั่วไปชั้นดินบนมีค่า pHประมาณ 4.5-5.0

ลักษณะดินเปรี้ยวจัดหรือดินกรดกำมะถัน

เนื้อดินเป็นดินเหนียว แข็ง และแตกระแหง กว้างและลึก มีชั้นดินเป็นกรดจัดมากถึงเป็นกรดรุนแรงมาก มีค่า pHของดินต่ำกว่า 4.0ทำให้ขาดธาตุอาหาร และขาดความสมดุลของธาตุอาหารพืช เกิดความเป็นพิษจากเหล็กและอะลูมิเนียมที่ละลายออกมามาก มี

น้ำแช่ขังนาน การระบายน้ำไม่ดี และขาดแคลนแหล่งน้ำจืด ทำให้พืชที่ปลูกแล้วไม่เจริญเติบโต หรือให้ผลผลิตต่ำมาก และจำกัดชนิดพืชที่นำมาใช้ปลูกในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด

แนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องดิน

– แก้ปัญหาความเป็นกรดจัดมากถึงเป็นกรดรุนแรงมากของดิน ลดความเป็นกรดจัดมากหรือกรดรุนแรงมากในดิน และควบคุมไม่ให้ดินเกิดกรดเพิ่มขึ้น โดยการใช้วัสดุปูน เช่น ปูนมาร์ล ปูนโดโลไมท์ หินปูนบด ปูนขาว และปูนแคลไซต์ เป็นต้น เพื่อลดความรุนแรงของความเป็นกรดและสารพิษในดิน

– ปรับดินให้ร่วนซุย งดเผาตอซังและไถกลบตอซังข้าวร่วมกับการปลูก และไถกลบพืชปุ๋ยสด ปุ๋ยคอก แกลบ หรือเถแกลบ ไถพรวนดินในช่วงความชื้นดินที่เหมาะสมที่ระดับความลึกแตกต่างกันในแต่ละปีหรือขุดหลุมปลูก ปรับปรุงหลุมปลูกด้วยปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก เพื่อช่วยให้ดินร่วนซุยและไม่แน่น

แนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ

– ปรับปรุงสภาพน้ำที่เป็นกรดจัดมาก ใส่หินปูนบดลงในคลองระบายหรือคลองส่งน้ำ หรือใส่ปูนประมาณ 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร พร้อมทั้งคอยตรวจสอบความเป็นกรดของน้ำเป็นระยะๆ

– จัดหาแหล่งน้ำจืด พัฒนาแหล่งน้ำจืด และจัดทำระบบส่งน้ำและทางระบายแยกส่วนกันมาใช้ในพื้นที่ปลูกพืช

เลือกชนิดพืชที่เหมาะสมมาปลูก

ดินเปรี้ยวจัดที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขความเป็นกรดของดินแล้ว สามารถปลูกพืชได้เกือบทุกชนิด แต่ต้องมีการจัดการเรื่องน้ำและธาตุอาหารพืชให้เหมาะสม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ชุดดินในที่ลุ่มที่สำคัญ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3. ชุดดินร้อยเอ็ด (Roi-et series : Re) กลุ่มชุดดินที่ 17 การกำเนิด : เกิดจากตะกอนของหินตะกอนเนื้อหยาบชะมาทับถมบนพื้นผิวของการเกลี่ยผิวแผ่นดินบริเวณพื้นที่เกือบราบหรือที่ราบ สภาพพื้นที่ : ราบเรียบถึงค่อนข้างราบเรียบ มีความลาดชัน 0-2 %
จุดกำเนิด ของการปลูกมันสำปะหลังเพื่อเลี้ยงโคนมในระบบอินทรีย์ของประเทศไทย เริ่มต้นจากกระแสการดูแลสุขภาพของคนทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น โดยเกษตรกรต้องการลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน แหล่งน้ำ และอากาศ รวมถึงการตอบแทนคุณแผ่นดินซึ่งเป็นที่ทำกินตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ
ปัจจัยที่มีผลต่อการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ คือการดำรงไว้ซึ่งความมีชีวิตของเมล็ดพันธุ์ (seed) ให้ยาวนานออกไป ฉะนั้นในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์จึงมีปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหลายประการ แต่โดยทั่วไปอาจสรุปได้ 2 ประการ คือ 1.ปัจจัยภายใน 1.1 ชนิดของเมล็ดพันธุ์(species)