วิธีการปลูกและการให้น้ำข้าวโพดหวาน

แม้ว่าการปลูกข้าวโพดหวานสามารถทำได้ตลอดปีถ้ามีแหล่งน้ำเพียงพอ อย่างไรก็ตามผลผลิตและคุณภาพข้าวโพดหวานอาจจะแตกต่างไปตามฤดูกาล นอกจากนี้พันธุ์บางพันธุ์อาจตอบสนองต่อฤดูปลูกแตกต่างกัน โดยทั่วไปในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ จะให้ผลผลิตต่ำกว่าในช่วงอื่น ๆ เนื่องจากอากาศเย็น ขณะที่การปลูกในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม จะได้ผลผลิตดีกว่าช่วงอื่น ๆ ไม่มีโรคราน้ำค้างระบาดและปัญหาวัชพืชซึ่งจะน้อยกว่าการปลูกในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม เพราะผลผลิตบางส่วนอาจเสียหายได้เนื่องจากช่วงดังกล่าวฝนตกชุก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมหรือน้ำขังในแปลงปลูกได้ง่าย โดยเฉพาะในแปลงที่มีระบบการระบายน้ำไม่ดี

การเตรียมดิน    

ในการปลูกข้าวโพดหวานควรมีการเตรียมดินอย่างดี เพื่อช่วยกำจัดวัชพืชย่อยเศษซากพืชและคลุกเคล้าอินทรียวัตถุ อีกทั้งยังเป็นการทำลายโรคและแมลงบางชนิดที่เป็นศัตรูข้าวโพด โดยทั่วไปการเตรียมดินควรปฏิบัติ ดังนี้

1. ไถด้วยผาลสาม 1 ครั้ง ลึก 20-30 เซนติเมตร และตากดิน 7-10 วัน แล้วพรวนด้วยผาลเจ็ด 1 ครั้ง แล้วคราดเก็บเศษซาก ราก เหง้า หัว ไหล ของวัชพืชออกจากแปลงให้หมด

2. เก็บตัวอย่างดินเพื่อวิเคราะห์ ถ้าพบว่าดินมีความเป็นกรดต่ำกว่า 5.5 ให้หว่านปูนขาว อัตรา 100-200 กิโลกรัมต่อไร่แล้วพรวนกลบ จากนั้นปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 14 วัน ก่อนปลูกข้าวโพดหวาน   

3. ถ้าดินมีอินทรียวัตถุต่ำกว่า 1.5 ให้ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกที่ย่อยสลายดีแล้ว อัตรา 500-1,000 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วพรวนดินกลบ

วิธีการปลูก

เมล็ดพันธุ์ที่นำมาปลูกควรมีความงอกสูงกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ หยอด 1 เมล็ดต่อหลุม โดยใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 1.0-1.2 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ถ้าเมล็ดพันธุ์มีความงอกต่ำกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ ควรหยอดเมล็ด 1-2 เมล็ดต่อหลุม และหยอดลึกประมาณ 3-5 เซนติเมตร ซึ่งใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 1.5-2.0 กิโลกรัมต่อไร่ เนื่องจากพันธุ์ข้าวโพดหวานที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่ต้านทานต่อโรคราน้ำค้าง ดังนั้นก่อนปลูกทุกครั้งต้องคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารเมตาแลกซิล อัตรา 7 กรัมต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม เพื่อป้องกันโรคราน้ำค้าง สำหรับอัตราปลูกที่เหมาะสมของข้าวโพดหวานเพื่ออุตสาหกรรมการแปรรูปควรอยู่ในช่วง 8,500-11,00 ต้นต่อไร่ ซึ่งการจัดระยะปลูกสามารถทำได้โดย

1. ใช้ระยะระหว่างแถว 75 เซนติเมตร และระยะระหว่างต้น 20-25 เซนติเมตร เมื่อข้าวโพดมีอายุประมาณ 10-14 วัน ถอนแยกให้เหลือ 1 ต้นต่อหลุม จะได้จำนวนต้นประมาณ 8,533-10,667 ต้นต่อไร่

2. ใช้ระยะระหว่างแถวและระยะระหว่างต้นเท่ากัน คือ ประมาณ 40 เซนติเมตร เมื่อข้าวโพดมีอายุประมาณ 10-14 วัน ถอนแยกให้เหลือ 1 ต้นต่อหลุม จะได้จำนวนต้นประมาณ 10,000 ต้นต่อไร่

การให้น้ำ

การขาดน้ำทุกระยะการเจริญเติบโตจะมีผลให้ผลผลิตและคุณภาพของข้าวโพดลดลง ก่อนการปลูกเกษตรกรต้องมีการวางแผนวิธีการให้น้ำที่เหมาะสมกับสภาพแปลงปลูก โดยทั่วไปการให้น้ำมีหลักปฏิบัติ ดังนี้

1. ให้น้ำทันทีหลังปลูกและหลังการใส่ปุ๋ยทุกครั้ง หลังจากนั้นให้น้ำทุก 7-12 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ วิธีการให้น้ำที่เกษตรกรปฏิบัติมีอยู่ 2 แบบ คือ ให้น้ำตามร่องคูและให้น้ำแบบพ่นฝอย (Sprinkler) ซึ่งการให้น้ำแบบพ่นฝอยควรให้น้ำแต่ละครั้งประมาณ 35-40 มิลลิลิตร ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศและชนิดของดิน เช่น ถ้าดินที่ใช้ปลูกเป็นดินทรายหรือดินร่วน ควรให้น้ำถี่กว่าดินเหนียวหรือดินร่วนเหนียว เพราะดินดังกล่าวมีความสามารถในการเก็บความชื้นไว้ นอกจากนี้ในช่วงการเจริญเติบโต หากสภาพอากาศมีอุณหภูมิสูงหรือมีลมแรงก็ควรมีการให้น้ำถี่ขึ้น  

2. หากพบว่าใบข้าวโพดหวานเหี่ยวหรือม้วนในช่วงเช้าหรือเย็น แสดงว่าขาดน้ำต้องรีบให้น้ำทันที

3. หลังการให้น้ำต้องระวังไม่ให้น้ำท่วมขังในแปลงนานเกิน 24 ชั่วโมง เพราะข้าวโพดหวานจะชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงหรืออาจตายได้

4. อย่าให้ข้าวโพดขาดน้ำในช่วงการเจริญเติบโต โดยเฉพาะในช่วงผสมเกสรและติดเมล็ด เพราะจะทำให้ผลผลิตและคุณภาพผลผลิตลดลงอย่างมาก ถึงแม้การขาดน้ำจะเป็นช่วงสั้น ๆ และไม่รุนแรง

5. หยุดให้น้ำก่อนเก็บเกี่ยวข้าวโพดหวานประมาณ 2-3 วัน

บทความที่เกี่ยวข้อง

การทำเกษตรแบบดั้งเดิมนั้น ภายหลังจากการเกี่ยวข้าว เกษตรกรบางส่วนจะนิยมเผาตอซังและฟางข้าว เนื่องจากเป็นวิธีกำจัดฟางข้าว เพื่อจัดการพื้นที่นาได้อย่างสะดวกรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม การเผาตอซังและฟางข้าวนั้น กลับส่งผลกระทบหลายด้านด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาด้านโครงสร้างของดินที่เปลี่ยนไป เพราะเป็นการทำลาย
ถั่วลิสงเป็นพืชตระกูลถั่วที่ให้ประโยชน์ทั้งเป็นพืชบำรุงดิน และขายเป็นรายได้สำหรับเกษตรกร นำมาปลูกหลังเก็บเกี่ยวข้าวได้ทั้งในพื้นที่อาศัยน้ำชลประทานและไม่อาศัยน้ำชลประทาน แต่การปลูกถั่วลิสงหลังเก็บเกี่ยวข้าวโดยไม่อาศัยน้ำชลประทานสามารถทำได้ในบางพื้นที่เท่านั้น 1. การเลือกพื้นที่ปลูก พื้นที่ทำนา
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Beauveria bassiana วงศ์ (Family) : Moniliales อันดับ (Order) : Deutesomycetes ชั้น (Class) : Fungi Imperfecti ประโยชน์และความหมาย เชื้อราบิวเวอเรีย (Beauveria bassiana) เป็นเชื้อรากำจัดแมลง โดยส่วนขยาย