การปลูกถั่วเหลืองในวิกฤติภัยแล้ง

 ถั่วเหลือง เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นพืชอายุสั้น เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 65-75 วัน (บริโภคสด) และ 85-95 วัน (เมล็ดแห้ง) ใช้น้ำน้อย ทนแล้ง นิยมใช้ในระบบปลูกพืช การปลูกถั่วเหลืองในระบบปลูกพืชมีประโยชน์หลายอย่าง ได้แก่

  • ตัดวงจรการระบาดของศัตรูพืชในนาข้าว
  • ช่วยเพิ่มธาตุอาหาร เพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดิน ปรับปรุงโครงสร้างดิน
  • ลดรายจ่ายค่าปุ๋ยเคมีในการปลูกพืชครั้งต่อไป
  • เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายผลผลิต

การปลูกถั่วเหลือง

1.พื้นที่ปลูก

ถั่วเหลืองสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ดินร่วนเหนียว และดินร่วนเหนียวปนทราย ค่าความเป็นกรดด่างของดิน 5.5-7.0 พื้นที่น้ำท่วมขังควรมีร่องระบายน้ำ

2.ฤดูปลูก

ฤดูแล้งเป็นฤดูที่เหมาะสม ปลูกได้ตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน-ปลายเดือนธันวาคม โดยปลูกได้ทันทีหลังการเก็บเกี่ยวข้าวนาปี แต่ต้องตรวจสอบความชื้นในดินด้วย

3.สภาพภูมิอากาศ

อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต 15-35 องศาเซลเซียส แต่ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส เมล็ดจะงอกช้าลง อาจใช้เวลานาน 8-10 วัน

4.พันธุ์

พันธุ์ถั่วเหลืองที่เกษตรกรนิยมปลูก ได้แก่ พันธุ์เชียงใหม่ 60 และเมล็ดพันธุ์ต้องมีความงอกไม่ต่ำกว่า 75 เปอร์เซ็นต์

5.การเตรียมดินและปลูก

การปลูกถั่วเหลืองในนาที่มีการชลประทานหลังการเก็บเกี่ยวข้าวไม่จำเป็นต้องไถพรวนดิน แต่ต้องขุดร่องรอยและผ่านกลางนาเพื่อใช้เป็นร่องระบายน้ำออกจากแปลง ระยะห่างร่อง 3-5 เมตร หลีกเลี่ยงการปลูกในสภาพดินทรายจัด โดยใช้อัตรา 12-15 กิโลกรัมต่อไร่ สามารถปลูกแบบหว่านและพรวนดินกลบ และปลูกเป็นแถวใช้ระยะปลูกระหว่างแถว 50 ซม. ระหว่างต้น 20 ซม. จำนวน 3-5 ต้นต่อหลุม

6.การใส่ปุ๋ย

ใส่ปุ๋ยเกรด 12-24-12 อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ หว่านพร้อมกับการเตรียมดิน

7.การให้น้ำ

อย่าให้ถั่วเหลือง ขาดน้ำช่วงออกดอกติดฝักจะทำให้ผลผลิตลดลง

8.การป้องกันกำจัดวัชพืช

วัชพืชใบแคบ พ่นฟลูเอซิฟอบ-พี-บิวทิล(15% EC) 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตรหรือควิซาโลฟอบ-พี-เทฟิวริล(6% EC) 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หลังงอก พ่นคลุมไปบนต้นเหลืองและวัชพืช ระยะที่วัชพืชส่วนใหญ่มีใบ 3-5 ใบ หรือประมาณ 15-20 วันหลังงอก

วัชพืชใบกว้าง พ่นหลังงอก พ่นโฟมีซาเฟน(25% EC) 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร คลุมไปบนต้นถั่วเหลืองและวัชพืช ระยะที่วัชพืชส่วนใหญ่มีใบ 3-5 ใบ หรือประมาณ 15-20 วันหลังงอก ห้ามเกินอัตราที่กำหนด เพราะอาจเป็นอันตรายต่อต้นถั่วเหลือง

9.แมลงศัตรูที่สำคัญ

1)  ระยะต้นกล้า

–  หนอนแมลงวันเจาะลำต้น ฉีดพ่นสารเคมีฆ่าแมลง เช่น ไตรอะโซฟอส 40% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นหลังจากถั่วเหลืองงอกไม่เกิน 7-10 วัน และพ่นซ้ำอีก 1-2 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน

2)  ระยะออกดอกและติดฝัก

–  แมลงหวี่ขาว พ่นด้วยสารเคมีป้องกำจัด เช่น อะเซทามิพริด 20% เอสพี อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อพบการทำลายใบยอดย่น และใบหงิกงอ ในระบะถั่วเหลืองเจริญเติบโตจนถึงระยะติดฝักอ่อนและฝักยาวเต็มที่อีก 2 ครั้ง พ่น 2-3 ครั้งห่างกัน 7-10 วัน

–  หนอนเจาะฝัก ให้ฉีดพ่นด้วยสารฆ่าแมลง ไตรอะโซฟอส 40% อีซี (ฮอสตาไธออน 40 อีซี) อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร 1-2 ครั้งให้ห่างกัน 10 วัน

10.โรคที่สำคัญ

–  โรครากและโคนเน่า คลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกด้วยสารเคมีกำจัดเชื้อรา เช่น เมทาแลกซิล อัตรา 5 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม

11.การเก็บเกี่ยว

เก็บเกี่ยวฝักสดเมื่ออายุ 65-75 วัน เมล็ดแห้งเก็บเกี่ยวเมื่อใบร่วง ฝักแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ร้อยละ 95 ของจำนวนฝักทั้งหมดโดยใช้แรงงานคนหรือเครื่องเก็บเกี่ยว

การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว

ต้นถั่วเหลืองที่เก็บเกี่ยวแล้วผึ่งไว้ในแปลง 1-2 วัน จึงนำไปนวดด้วยเครื่องนวดถั่วเหลืองที่มีความเร็วรอบ ไม่เกิน 500 รอบต่อนาที กะเทาะเมล็ดออกจากฝักและร่อนทำความสะอาดไปพร้อมกัน นำเมล็ดที่ได้ไปผึ่งแดดเพื่อลดความชื้นให้เหลือประมาณ 10-12 เปอร์เซ็นต์ บรรจุเมล็ดถั่วเหลืองในกระสอบที่สะอาดและเย็บปากกระสอบให้มิดชิดเพื่อเก็บรักษาหรือส่งจำหน่าย

การผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง

เกษตรกรมักขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง หรือหาเมล็ดพันธุ์ได้ไม่ทันต่อช่วงเวลาปลูก ดังนั้นจึงควรหาวิธีการผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง โดยเริ่มจาก

  1. ใช้เมล็ดพันธุ์ดีจากแหล่งที่เชื่อถือได้
  2. ปลูกและปฏิบัติดูแลรักษาตามคำแนะนะ
  3. เพื่อปราศจากการปนพันธุ์ หมั่นตรวจสอบแปลงและขจัดพันธุ์ปน อย่างน้อย 3 ครั้ง คือ ระยะต้นกล้า ระยะออกดอกและติดฝัก
  4. เก็บเกี่ยวโดยใช้เคี่ยวเกี่ยวต้น ขณะใบร่วง ฝักแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ร้อยละ 95 จะได้เมล็ดพันธุ์ที่ดีกว่าเครื่องเกี่ยวนวด
  5. ภายหลังกะเทาะเมล็ด ทำความสะอาด ตากเมล็ดอีกครั้งให้แห้งสนิทเพื่อลดความชื้นให้เหลือ 10-12 เปอร์เซ็นต์(ตาก 1-2 แดด) ทดสอบโดยใช้ฟันขบเมล็ดจะมีเสียงดังกร๊อบและแตกเป็นชิ้นเล็กๆ

การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์

ภาชนะที่ใช้บรรจุต้องสะอาดและสามารถปิดได้มิดชิด เช่น ถุงพลาสติกชนิดหนา ปิ๊บ ถังพลาสติก หรือ ถังน้ำมันที่มีฝาปิดได้สนิทขนาดต่างๆ วางภาชนะไว้ในที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี ไม่เปียกชื้นจากฝน มีการป้องกัน แมลง หนู หรือสัตว์อื่นๆ เข้ารบกวน สามารถเก็บเมล็ดได้ข้ามปี ถ้าปฏิบัติตามคำแนะนำ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เมล็ดเหลืองในข้าวเกิดจากกระบวนการ Browning Reaction เป็นการรวมตัวของน้ำตาล และ สารประกอบกรดอะมิโน เป็นปฏิกิริยาที่ไม่ต้องใช้ เอนไซม์ ปัจจัยที่มีผลต่อกระบวนการนี้คือ ความชื้น อุณหภูมิ และความเป็นกรด - ด่าง
ในปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมี ซึ่งทำให้เกิดต้นทุนในการผลิตสูง แต่ก็มีเกษตรกรหลายรายหันกลับมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองในนาข้าว โดยอาศัยหลักการพึ่งพากันของธรรมชาติ เกิดองค์ความรู้จากการสังเกตว่า พืชผักใบเขียวในส่วนยอดอ่อนๆ จะมีฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโตอยู่ในปริมาณมาก เมื่อนำมาหมักให้เ
ชนิด : ข้าวเจ้า คู่ผสม : การผสมเดี่ยว ระหว่างพันธุ์ข้าวเจ้าหอมสุพรรณบุรี และพันธุ์สุพรรณบุรี 1 ประวัติพันธุ์ :ทดสอบที่ศูนย์วิจัยข้าวสุพรรณบุรี ในฤดูนาปรัง เมื่อปี พ.ศ. 2542 และปลูกคัดเลือกจนได้สายพันธุ์ SPR99007-22-1-2-2-1 ทดสอบผลผลิตในสถานีระหว่างสถานีในนาราษฎร์ โดยมีทดสอบความ ต้านทานต่อโรคและแมลงศ