ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในนา

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นับว่าเป็นพืชไร่ชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพที่จะใช้ปลูกในฤดูแล้งหลังเก็บเกี่ยวข้าว เนื่องจากเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยกว่าการทำนาประมาณ 2-3 เท่า นอกจากนี้ยังช่วยลดการแพร่ระบาดของแมลง คุณภาพเมล็ดดีปราศจากสารพิษแอฟลาทอกซิน ราคาดีและช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศโดยเฉพาะใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์

1. การเลือกพื้นที่

ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ต่ำและระบายน้ำยาก ในกรณีพื้นที่นาไม่สม่ำเสมอจำเป็นต้องปรับพื้นที่ให้ราบเรียบก่อนการปลูกข้าว เพื่อสะดวกในการให้น้ำและระบายน้ำออกจากแปลงเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาน้ำท่วมขังในแปลง ส่วนในกรณีที่ดินนาเป็นกรดหรือกรดจัด (pH ต่ำกว่า 5.5) ควรปรับปรุงความเป็นกรดของดินก่อนทำนาหรือก่อนปลูกข้าวโพดโดยการใส่ปูนขาว ปูนมาร์ล หรือหินปูนบด ควรหลีกเลี่ยงการปลูกข้าวโพดในสภาพดินนาที่เป็นดินเหนียวถึงดินเหนียวจัดเนื่องจากระบายน้ำไม่ดี

2. การเลือกช่วงเวลาปลูก

ช่วงเวลาการปลูกที่เหมาะสมของข้าวโพดในฤดูแล้ง คือ เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม หากสามารถปลูกได้เร็วจะทำให้ต้นข้าวโพดมีการเจริญเติบโตดีและระยะออกดอกไม่ตรงกับช่วงอุณหภูมิสูง และช่วยประหยัดการใช้น้ำได้อีกด้วย ควรหลีกเลี่ยงการปลูกข้าวโพดล่าช้าถึงเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์จะทำให้ได้ผลผลิตต่ำ เนื่องจากอุณหภูมิสูงในช่วงออกดอกซึ่งจะเป็นอันตรายต่อการผสมเกสร ในขณะเดียวกันช่วงเก็บเกี่ยวอาจจะมีฝนตก ทำให้เมล็ดได้รับความเสียหายและคุณภาพไม่ดี

3. การเตรียมดิน

การเตรียมดินนับว่ามีความสำคัญต่อการปลูกข้าวโพดในสภาพนา เนื่องจากสภาพแปลงนาก่อนการปลูกข้าวโพดเป็นดินที่อัดตัวกันแน่นและระบายน้ำยาก แต่ในทางตรงกันข้ามข้าวโพดจะชอบลักษณะดินที่โปร่งและระบายน้ำได้ดี การปลูกข้าวโพดในสภาพนาควรไถพรวนดิน 1-2 ครั้ง เพื่อให้ดินร่วนซุย นอกจากนี้ยังสามารถปลูกได้โดยไม่ไถเตรียมดินโดยเฉพาะในดินร่วน ดินร่วนปนทราย และดินร่วนเหนียว เป็นวิธีการที่น่าจะดีกว่าการปลูกโดยไถพรวนตามปกติ เนื่องจากสามารถช่วยลดต้นทุนในการพรวนและยังช่วยให้ปลูกข้าวโพดได้เร็วขึ้นด้วย ซึ่งการปลูกตามทำได้ทันทีหลังเก็บเกี่ยวข้าว โดยอาศัยความชื้นในดินที่หลงเหลืออยู่สามารถประหยัดการใช้น้ำได้อย่างดี ในขณะเดียวกันตอซังขาวที่หลงเหลืออยู่ในแปลง ยังสามารถใช้คลุมดินเพื่อช่วยสงวนรักษาความชื้นในดินและควบคุมวัชพืชได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามการปลูกโดยไม่ไถพรวนจะต้องควบคุมวัชพืชก่อนปลูกให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. การเตรียมแปลงปลูกและการให้น้ำ

การปลูกข้าวโพดในสภาพนาที่มีการระบายน้ำไม่ดี โดยเฉพาะดินนาที่เป็นดินเหนียวถึงเหนียวจัด หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรปลูกโดยการยกแปลงปลูกแถวคู่หรือแถวเดี่ยว เนื่องจากการยกแปลงปลูกนอกจากจะใช้สำหรับเป็นร่องให้น้ำแล้วยังใช้เป็นร่องระบายน้ำออกจากแปลงได้ ส่วนการปลูกโดยไม่ไถเตรียมดิน ควรปลูกโดยอาศัยความชื้นในดินที่หลงเหลืออยู่หรือในกรณีที่ปลูกข้าวล่าช้าความชื้นในดินไม่เพียงพอจำเป็นต้องให้น้ำก่อนปลูก โดยให้น้ำท่วมแปลงแล้วทิ้งดินไว้ให้พอเหมาะจึงปลูกข้าวโพด วิธีหลังนี้ต้องระวังเกี่ยวกับวัชพืชโดยเฉพาะเมล็ดข้าวที่ร่วงหล่นอยู่ในแปลง แต่แก้ไขได้โดยเกี่ยวข้าวในระยะพลับพลึง ซึ่งเมล็ดข้าวยังติดเหนียวกับระแง้ไม่ร่วงง่ายเหมือนข้าวแก่จนสุก จากนั้นจะให้น้ำอีกครั้งหนึ่งหลังจากใส่ปุ๋ยยูเรียแต่งหน้าและพูนโคน ซึ่งการพูนโคนจะเป็นการยกร่องเดี่ยวโดยปริยาย จากนั้นการให้น้ำก็จะเป็นไปตามปกติหรือหากไม่พูนโคนก่อนการให้น้ำจะต้องทำร่องรอบแปลงเพื่อใช้ระบายน้ำออกจากแปลงหลังจากให้น้ำ

5. การเลือกใช้พันธุ์

สำหรับพันธุ์ข้าวโพดที่เหมาะสมสำหรับปลูกในสภาพนานั้น ควรเลือกใช้พันธุ์ลูกผสมโดยเฉพาะลูกผสมเดี่ยว ซึ่งให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ผสมเปิด สำหรับข้าวโพดพันธุ์ลูกผสมในปัจจุบันมีอยู่หลายพันธุ์ ซึ่งผลิตโดยบริษัทเอกชนและทางราชการ เช่น ศูนย์วิจัยข้าวโพดข้าวฟ่างแห่งชาติ และกรมวิชาการเกษตร

6. วิธีการปลูกและระยะปลูก

ควรปลูกแบบเป็นแถวโดยใช้เครื่องหยอดเมล็ดหรือใช้แรงงานคน สำหรับระยะปลูกที่เหมาะสมสำหรับปลูกข้าวโพดไร่ในสภาพนานั้น ควรใช้ระยะระหว่างแถว 75 ซม. ระยะระหว่างหลุม 20 ซม. จำนวน 1 ต้น/หลุม หรือปลูกให้ได้จำนวน 10,667 ต้น/ไร่

7. การให้น้ำ

ข้าวโพดต้องการน้ำตลอดฤดูประมาณ 450-500 มม. ควรให้น้ำชลประทานประมาณ 3-5 ครั้งตลอดฤดูปลูก ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ชนิดของเนื้อดิน สภาพภูมิอากาศ และระดับน้ำใต้ดิน เป็นต้น และจะต้องได้รับน้ำอย่างเพียงพอตลอดฤดูปลูก หากเกิดการขาดน้ำในช่วงระยะใดระยะหนึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อผลผลิตที่จะได้รับโดยเฉพาะการขาดน้ำในระยะออกดอก จะทำให้ผลผลิตลดลง 50 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างไรก็ตามสามารถลดจำนวนครั้งในการให้น้ำโดยวิธีไม่ไถเตรียมดินซึ่งอาศัยฟางข้าว เศษพืช หรือเศษวัชพืช เป็นวัสดุคลุมดิน ซึ่งสามารถลดจำนวนครั้งของการให้น้ำเหลือประมาณ 2-3 ครั้ง ขั้นตอนการให้น้ำสำหรับข้าวโพด คือ ปล่อยให้น้ำท่วมแปลงก่อนปลูกในกรณีที่ดินแห้ง แล้วรอจนกระทั่งดินชื้นพอเหมาะจึงทำการปลูกข้าวโพด แล้วพูนโคนเป็นร่องน้ำโดยปริยายเมื่ออายุประมาณ 2-3 สัปดาห์หลังปลูก พร้อมใส่ปุ๋ยแต่งหน้าแล้วให้น้ำตามร่องตามปกติจนถึงเก็บเกี่ยว

8. การควบคุมวัชพืช

การปลูกข้าวโพดในสภาพนาในกรณีที่ไม่ใช้วัสดุคลุมดินหรือวิธีการไถพรวนดิน สารเคมีมีความจำเป็นอย่างมากโดยเฉพาะการปลูกโดยไม่ไถเตรียมดิน ซึ่งต้องกำจัดวัชพืชประเภทก่อนปลูก เช่น ไกลโฟเสท พารา ครอต นอกจากนี้การใช้สารกำจัดวัชพืชประเภทก่อนงอก เช่น เมโทลาคลอร์ อะลาคลอร์หรืออะทราซีน มีความสำคัญเช่นกันเนื่องจากเมล็ดวัชพืชที่อยู่ในดินจะงอกขึ้นมาภายหลังได้เมื่อมีการให้น้ำชลประมานในช่วงปลูก แต่การใช้อะทราซีนต้องระวังผลตกค้างในดิน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อพืชที่ปลูกตามโดยเฉพาะพืชตระกูลถั่วต่าง ๆ แต่ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการใช้อะทราซีนสำหรับการปลูกในสภาพนา ในกรณีที่มีวัชพืชค่อนข้างมากควรฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืชประเภทก่อนปลูกหรือก่อนงอกได้ จากนั้นก็จะดายหญ้าหรือทำรุ่นอีกครั้งหนึ่งพร้อมกับการใส่ปุ๋ยแต่งหน้า สำหรับในแปลงที่มีวัชพืชไม่รุนแรง การดายหญ้าเพียงครั้งเดียวพร้อมกับการใส่ปุ๋ยแต่งหน้าก็เพียงพอแล้ว แต่อย่างไรก็ตามวัชพืชมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการให้น้ำชลประทานเช่นกัน โดยการให้น้ำบ่อยครั้งมีแนวโน้มทำให้ปริมาณวัชพืชเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

9. ศัตรูของข้าวโพด

ศัตรูของข้าวโพดที่สำคัญสำหรับการปลูกข้าวโพดในฤดูแล้ง คือ หนู ซึ่งจะเข้ากัดกินต้นอ่อนถึงระยะติดฝัก โดยเฉพาะในระยะเป็นน้ำนมถึงฝักแก่ ในกรณีที่มีการระบาดของหนูอย่างรุนแรง ผลผลิตอาจถูกทำลายเกือบทั้งแปลง สำหรับนวทางแก้ไขมีอยู่หลายวิธีทั้งวิธีกล เช่น กัปดักต่าง ๆ และการใช้สารเคมี เช่น เหยื่อพิษ เป็นต้น สำหรับแมลงศัตรูที่สำคัญ คือ หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด ซึ่งควรใช้คาร์โบฟูราน 3 % ชนิดเมล็ดประมาณ 1 ช้อนชา/ต้นหยอดที่ยอด นอกจากนี้ยังมีหนอนกระทู้ข้าวโพดและหนอนเจาะฝักข้าวโพด ควรใช้สารกำจัดแมลงตามคำแนะนำ

10. การเก็บเกี่ยว

ควรเก็บเกี่ยวข้าวโพดเมื่อแก่จัดหรือครบอายุเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมแต่ละพันธุ์ โดยเก็บเฉพาะฝักแล้วนำมาตากแดด 2-3 แดด จึงนำมากะเทาะเมล็ดด้วยเครื่องกะเทาะเมล็ด ซึ่งมีความเร็วรอบที่เหมาะสมเมล็ดจะไม่แตกเสียหาย จากนั้นนำเมล็ดมาตากแดดให้แห้งสนิทก่อนบรรจุในถุงหรือความชื้นสูง เพราะจะทำให้เกิดเชื้อราซึ่งอาจเป็นพิษต่อคนหรือสัตว์ที่กินเข้าไปได้

11. ข้อกำจัดของการปลูกข้าวโพดไร่ในฤดูแล้งหลังเก็บเกี่ยวข้าว

  • หลีกเลี่ยงดินเหนียวถึงเหนียวจัด
  • หลีกเลี่ยงดินกรด (pH ต่ำกว่า 5.5)
  • หลีกเลี่ยงการขาดน้ำในระยะออกดอก
  • หลีกเลี่ยงการปลูกหลังเดือนธันวาคม
  • หลีกเลี่ยงน้ำท่วมขังในระยะแรก
  • ต้องการปุ๋ยไนโตรเจนอัตราสูง

บทความที่เกี่ยวข้อง

ในปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาน้ำเค็มไหลเข้าพื้นที่การเกษตรหลายแห่ง ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ทำการเพาะปลูกพืชมากมาย และส่งผลกระทบต่อพืชโดยตรง เช่น ปลายใบไหม้ ต้นเหี่ยว และใบเหลือง ทำให้ผลผลิตของเกษตรกรลดลง ซึ่งสาเหตุการเกิดน้ำเค็มในแต่ละภาคแตกต่างกันไป เช่น บริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้
สาเหตุเชื้อรา Bipolaris oryzae ชื่อเดิม Helminthosporium oryzae (Breda de Haan.) Shoemaker, 1959 ลักษณะอาการ จะเกิดแผลที่ใบข้าว โดยพบมากในระยะแตกกอ มีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาลรูปกลม หรือรูปไข่ ขอบนอกของใบแผลมีสีเหลือง มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 – 1 มิลลิเมตร แผลที่มีการพัฒนาเต็มที่ขนาดประมาณ 1- 2
การทำการเกษตรแบบปลอดการเผามีความจำเป็นต้องมีการจัดการระบบการเพาะปลูกพืชให้ถูกต้องและเหมาะสม โดยควรมีการนำเทคโนโลยีด้านต่าง ๆเข้ามาใช้ในแต่ละขั้นตอนการผลิตเพื่อสนับสนุนการหยุดการเผาในไร่นาควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืช การพัฒนาการเตรียมดิน การส่งเสริมให้เกษตรกรทำการพัฒนาการเตรียม