การเก็บเกี่ยวระยะพลับพลึง

วิธีการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อผลผลิต และคุณภาพของผลผลิตข้าวในแต่ละฤดู  ผลของการจัดการตลอดช่วงฤดูการปลูกข้าวจะมีผลต่อคุณภาพและผลผลิตข้าวในที่สุด ราคาของข้าวเปลือกจากการซื้อขายผลผลิตข้าว นอกจากจะมีการพิจารณาตั้งแต่ความชื้นของข้าวเปลือก ลักษณะของเมล็ดได้แก่ สีเปลือก ขนาดเมล็ดเต็ม และสิ่งเจือปนต่างๆแล้ว คุณภาพการสีของข้าวเปลือกโดยคิดเป็นเปอร์เซนต์ของต้นข้าวก็เป็นลักษณะที่ใช้กำหนดในการซื้อขายข้าวเช่นกัน เมื่อมีการจัดการที่ถูกต้องตลอดฤดูการปลูกข้าว ผลที่ได้ดังนี้

  1. ได้ผลผลิตข้าวเต็มศักยภาพของแต่ละพันธุ์

  2. คุณภาพทางกายภาพ ได้แก่ สีเปลือก สีข้าวกล้อง ขนาดและรูปร่าง คุณสมบัติการหุงต้ม ตรงตามพันธุ์

  3. คุณภาพการสี ของข้าวเปลือกได้ปริมาณข้าวเต็มเมล็ดมาก

สุดท้ายการเก็บเกี่ยวในระยะเวลาที่ถูกต้องและเหมะสม จะทำให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพดี การเก็บเกี่ยวที่ระยะพลับพลึง เป็นระยะการเก็บเกี่ยวที่แนะนำ และเกษตรกรควรถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดถ้าต้องการให้ได้ผลผลิตข้าวที่ดีมีคุณภาพ และสามารถใช้เป็นข้อต่อรองให้ขายได้ราคาดี

การเก็บเกี่ยวระยะพลับพลึง คือระยะการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวที่นับจากวันที่ข้าวออกดอกไปแล้ว 28-30 วัน และเก็บเกี่ยวในสภาพที่นาแห้ง หรืออย่างน้อยก็ไม่มีน้ำขังในนา

ข้าวออกดอก วันที่ข้าวออกดอก พิจารณาจากวันที่รวงข้าวที่มีดอกบานเกือบเต็มพื้นที่ คือ 80 % ของพื้นที่ จึงบันทึกวันนั้นเป็นวันที่ข้าวออกดอก

วิธีการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าว

1. การเตรียมตัวก่อนถึงวันเก็บเกี่ยวข้าว : เกษตรกรควรหมั่นเดินสำรวจแปลงนาตั้งแต่วันที่ข้าวออกดอก เพราะระยะนี้เป็นระยะที่ข้าวต้องได้รับการเอาใจใส่ทุกด้าน

  • ในนาต้องมีน้ำเพียงพอ
  • ไม่มีโรคแมลงรบกวน
  • ไม่ลงไปรบกวนในแปลงนาโดยไม่จำเป็น
  •  หากเกิดปัญหาใดๆ ต้องรีบแก้ไข ไม่ทิ้งไว้จนเกิดอาการรุนแรง

2. วางแผนการเก็บเกี่ยว : เมื่อทราบวันที่ข้าวออกดอก ให้วางแผนกำหนดวันที่จะเก็บเกี่ยว (หลังข้าวออกดอก 28-30 วัน) วิธีการเก็บเกี่ยว

  • ถ้าใช้แรงงานก็ต้องนัดแรงงานมาให้พร้อม
  • ถ้าใช้เครื่องจักรก็ต้องทำความสะอาดและดูแลเครื่องจักรให้พร้อมที่จะทำงานได้ในวันที่กำหนด

3. ก่อนถึงวันเก็บเกี่ยว 10 วันถ้ายังคงมีน้ำอยู่ในนา ให้ระบายน้ำออกจากนาให้หมด เพื่อให้ข้าวสุกแก่สม่ำเสมอ แปลงนาที่แห้งจะสะดวกในการลงไปทำงาน ทั้งการเก็บเกี่ยวด้วยแรงงานคน และเครื่องจักร

4. กำหนดวันที่เก็บเกี่ยว ถ้าสามารถรับฟังการพยากรณ์อากาศได้ หากคาดว่าจะมีฝนตกในช่วงวันเก็บเกี่ยว อาจทำการเก็บเกี่ยวก่อน หรือหลังวันที่กำหนดได้ แต่ควรมีแผนการขนย้ายผลผลิต หรือการเก็บผลผลิตไว้ในยุ้งฉาง ในสภาพที่แห้ง

 การลดความชื้นผลผลิตข้าว

หลังการเก็บเกี่ยว การนวดผลผลิตข้าว และทำความสะอาดโดยการฝัดแล้ว ยังไม่สามารถเก็บรักษาเมล็ดข้าวที่มีความชื้นสูงไว้ในโรงเก็บได้ เพราะเมล็ดมีการหายใจทำให้เกิดความร้อน จะทำให้เกิดเชื้อราเข้าทำลาย ควรลดความชื้นในเมล็ดก่อนเก็บ โดย

  • ตากเมล็ดข้าวบนลานที่ทำความสะอาดแล้ว
  • ไม่ควรตากบนพื้นซีเมนต์หรือพื้นถนนโดยตรง เพราะเมล็ดอาจได้รับความร้อนสูงเกินไป
  • ควรปูพื้นด้วยผ้าใบหรือเสื่อสานด้วยไม้ไผ่
  • ความหนาของกองที่ตาก ประมาณ 5 -10 เซนติเมตร ไม่ควรหนาหรือบางเกินไป
  • ควรมีวัสดุคลุมกองข้าวเพื่อป้องกันน้ำค้างหรือฝน
  • ระยะเวลาการตากข้าวประมาณ 2-3 แดด ไม่ควรตากนานเกินไป
  • การลดความชื้นโดยใช้เครื่องจักร
  • ต้องมีความรู้ความเข้าใจการใช้เครื่องจักรเป็นอย่างดี
  • วัตถุประสงค์ของการลดความชื้นเมล็ดเพื่อเก็บเป็นเมล็ดพันธุ์ต้องมีความระมัดระวังไม่ให้อุณหภูมิของเครื่องลดความชื้นจนมีผลต่อความงอกของเมล็ด
  • ควรคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติจะคุ้มหรือไม่

*ความชื้นของข้าวเปลือกที่เก็บทั่วไป ความชื้นไม่ควรสูงเกิน 14 % และถ้าเป็นเมล็ดพันธุ์ความชื้นไม่ควรเกิน 12 %*

ดาวน์โหลด : การเก็บเกี่ยวระยะพลับพลึง

ที่มาของข้อมูล :

บทความที่เกี่ยวข้อง

การระบาดของแมลงศัตรูอ้อยในช่วงเดือนต่างๆ ได้แก่ หนอนกอลายจุดเล็ก หนอนกอลายจุดใหญ่ หนอนกอลายใหญ่ หนอนกอลายแถบแดง หนอนกอสีชมพู หนอนกอสีขาว แมลงหวี่ขาวอ้อย เพลี้ยกระโดดอ้อย เพลี้ยจักจั่นสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่นงวง เพลี้ยกระโดดดำ เพลี้ยหอยอ้อย เพลี้ยอ่อนสำลี เพลี้ยแป้งสีชมพู มวนอ้อย ไรแมงมุมอ้อย ด้วงหนวดยาวอ้อย แมลงนูนหลวง ปลวกอ้อย แมลงค่อมทอง ด้วงขี้ควาย ด้วงดำ ด้วงงวงอ้อย ตั๊กแตนไฮโรไกรฟัส ตั๊กแตนโลกัสต้า ตั๊กแตนปาทังก้า และหนอนบุ้ง
การอนุรักษ์ดินและน้ำ นอกเหนือจากการปรับปรุงดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำและมีสมบัติอื่น ๆ ไม่เหมาะสมให้ดีขึ้นโดยวิธีการต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว ในขณะเดียวกันควรมีการป้องกันหรือควบคุมความเสื่อมโทรมของดินไปด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการอุดรูรั่วหรือป้องกันการสูญเสียเนื้อดินที่ดีรวมทั้งอินทรีย์วัตถุและธาตุอาหารออกไป
หนอนผีเสื้อหัวกะโหลก (Acherontia styx ; Death’s head hawk month) หรือเกษตรกรมักจะเรียกว่า “หนอนแก้ว” เป็นแมลงศัตรูที่มีพืชอาหารกว้าง พบในถั่วงา มะเขือ ยาสูบ มันเทศ ม่านบาหลี และแตง เป็นต้น วงจรชีวิตของหนอนผีเสื้อหัวกะโหลกใช้เวลา 49-56 วัน ผีเสื้อเพศเมียหนึ่งตัววางไข่ได้ประมาณ 125-156