การทดสอบและพัฒนาวิธีการปลูกข้าวโดยวิธีการหยอดข้าวแห้ง

ในปัจจุบันวิธีการปลูกข้าวที่เกษตรกรนิยม คือ การทำนาหว่าน  ซึ่งมีข้อดีคือสะดวกและรวดเร็ว โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทานที่ต้องอาศัยน้ำฝนในการทำนาเพียงอย่างเดียว ดังนั้น การทำนาหว่านข้าวแห้ง จึงเป็นวิธีปลูกข้าวที่แพร่หลายเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม การหว่านข้าวแห้งมีข้อเสียด้วยเช่นกัน  เนื่องจากเกษตรกรมีการใช้เมล็ดพันธุ์จำนวนมาก และการฝังเมล็ดไม่มีความสม่ำเสมอ ส่งผลให้เกิดการสูญเสียความงอกจากความร้อนและศัตรูพืช อีกทั้งพื้นที่ในการเพาะปลูกไม่มีความเป็นระเบียบ ทำให้กำจัดวัชพืชและบำรุงรักษาแปลงนาได้ยาก

ในปีที่ผ่านมา สยามคูโบต้า ได้ร่วมมือกับ กรมการข้าว โดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว จ.สุรินทร์ ทำการทดสอบและพัฒนาวิธีการปลูกข้าวโดยวิธี “การหยอดข้าวแห้ง” ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ด้วยการนำองค์ความรู้ KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจร มาประยุกต์ใช้ในการทดสอบ โดยพบว่า การหยอดข้าวในอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ปริมาณ 8-9  กก./ไร่  ด้วยการใช้เครื่องหยอดเมล็ด สามารถเพิ่มผลผลิตได้ 5-7% (เมื่อเทียบกับวิธีการหว่านที่ใช้เมล็ดพันธุ์ในปริมาณ 20 กก./ไร่)  ซึ่งช่วยเกษตรกรลดต้นทุนจากการใช้เมล็ดพันธุ์ได้ถึง 50-60% และยังช่วยให้มีกำไรเพิ่มขึ้น 24% อีกด้วย

จากความสำเร็จในปีที่ผ่านมา สยามคูโบต้า จึงได้มีแผนศึกษาวิจัยการพัฒนาวิธีการปลูกข้าวนาหยอดแห้งให้เหมาะสมกับพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีหัวข้อการวิจัยในเรื่องของช่วงเวลาที่เหมาะสมในการหยอดและวิธีการบำรุงรักษาที่เหมาะสม และภายใต้การศึกษาวิจัยดังกล่าว สยามคูโบต้ายังได้ร่วมมือกับคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการสนับสนุนองค์ความรู้และให้คำปรึกษาชี้แนะตลอดช่วงการทำแปลงทดลอง ซึ่งได้เริ่มทำการศึกษาวิจัยในฤดูกาลเพาะปลูก ช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน 2560

สำหรับการศึกษาวิจัยการพัฒนาวิธีการปลูกข้าวนาหยอดด้วยข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ105 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สยามคูโบต้า จะทำการทดสอบบนแปลงของเกษตรกรสมาชิกศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว จ.สุรินทร์ โดยใช้แทรกเตอร์ติดตั้งกับเครื่องหยอดเมล็ด ที่สามารถปรับระยะห่างระหว่างกอ  ระยะห่างระหว่างแถวและอัตราการหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวได้ อีกทั้งยังสามารถควบคุมความลึกในการหยอดและกลบเมล็ดทำให้ความลึกในการหยอดสม่ำเสมอ ลดความเสียหายจากความร้อนและศัตรูพืช และสามารถฝังเมล็ดในดินที่ระดับความลึกที่เหมาะสมได้ ส่งผลให้รากข้าวเจริญเติบโตได้ดี แข็งแรง และทนทานต่อความแล้งได้

ผลจากการวิจัยในครั้งนี้ สยามคูโบต้า เชื่อมั่นว่าจะสามารถได้ผลผลิตข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ105 ในปริมาณ 500-600 กก./ไร่  จากเดิมที่เกษตรกรในพื้นที่เคยได้ผลผลิตปริมาณ 460 กก./ไร่ และจะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เมล็ดพันธุ์และวิธีการดูแลรักษาข้าวนาหยอดให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น รวมทั้งมีการใช้ปุ๋ยให้มีประสิทธิภาพตามสภาพพื้นที่ และตรงกับความต้องการธาตุอาหารของข้าวในแต่ละระยะการเจริญเติบโต เพื่อช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน

** ผลการทดสอบ ณ แแปลงของเกษตรกรสมาชิกศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว จ.สุรินทร์ ในปี 2559 ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพแวดล้อม ลักษณะการดูแลรักษา และสภาพดิน

บทความที่เกี่ยวข้อง

เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ในช่วงหลังการเก็บเกี่ยวข้าว เกษตรกรส่วนใหญ่จะเริ่มทำการเพาะปลูกพืชผัก เพราะในช่วงฤดูหนาวพืชผักจะงอกงามอย่างดี แต่อากาศที่หนาวเย็นบวกกับความแล้ง ที่มีหมอกในตอนเช้า แดดแรงในตอนกลางวัน อากาศเย็นในตอนกลางคืน ระวังโรคพืชที่จะตามมาแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ทำให้ผลผลิตน้อย โตช้า
น้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการชักนำให้เกิดชนิดวัชพืชต่าง ๆ ในนาข้าว เนื่องจากความชื้นในดินมีส่วนช่วยให้เมล็ดหรือส่วนขยายพันธุ์ของวัชพืชงอกได้ วัชพืชแต่ละชนิดต้องการความชื้นในการงอก ในระดับที่แตกต่างกันออกไป เช่น หญ้านกสีชมพู หนวดปลาดุก และกกทราย ต้องการความชื้นระดับดินหมาด (field capacity)
ปัจจุบันนี้ ได้มีเกษตรกรบางส่วนเริ่มเปลี่ยนพื้นที่จากการปลูกข้าวมาเป็นอ้อยในหลายพื้นที่ เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสที่มั่นคงของ “อ้อย” เพราะเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความต้องการของตลาดจำนวนมาก และที่สำคัญ มีการกำหนดราคาที่ชัดเจน แต่ด้วยเกษตรกรบางราย ไม่กล้าตัดสินใจที่จะเปลี่ยนพื้นที่จากการทำนามาเป็น